จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางกระทรวงสาธารณสุข จัดทำแผน 5 ยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างความมั่นคงทางยา สำหรับใช้เองภายในประเทศ ช่วยประหยัดงบประมาณการนำเข้าที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ว่า คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาประกาศกำหนดราคากลางยา 159 รายการ ซึ่งจะช่วยรัฐประหยัดค่ายา 5 พันล้านบาทใน 3 ปี พร้อมกันนี้ยังเห็นชอบร่างนโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2563-2565 ซึ่งจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้ และมอบหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำแผนปฏิบัติการต่อไป
นพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า สำหรับร่างดังกล่าวจะมี 5 ยุทธศาสตร์ คือ
1.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตยา สมุนไพร และชีววัตถุ เพื่อความมั่นคงทางยาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
2.พัฒนาระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน
3.พัฒนาระบบและกลไกการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
4.พัฒนาระบบควบคุมยาให้มีประสิทธิภาพระดับสากล และ
5.สร้างเสริมกลไกการประสานงานเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เพื่อให้ไทยมีความมั่นคงด้านยา สามารถผลิตและจัดหายาจำเป็นได้ทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน
เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ทั้งนี้ ทิศทางจะเน้นเรื่องศักยภาพการวิจัยพัฒนาเรื่องยาสุมนไพร ยาชีวะวัตถุ ในกลุ่มวัคซีน ฮอร์โมน รวมถึงเรื่องอุตสาหกรรมยา สำหรับยาชีวะวัตถุ มีการประมาณการณ์มูลค่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 200 ล้านบาท ในปี 2559 เป็น 3 พันล้านบาท ในปี 2565
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางยา อย่างกรณียารักษาโรคโควิด-19 ก็เป็นตัวสำคัญที่ทำให้ต้องมองเรื่องความมั่นคงทางยามากขึ้น เนื่องจากยาที่มีรายงานการใช้รักษาโควิดประมาณ 7 ตัว ไทยผลิตได้ 6 ตัว แต่ตัวสำคัญอย่างยาฟาวิพิราเวียร์ยังผลิตเองไม่ได้ ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่นและจีน ซึ่งเหลืออยู่ในสต๊อกประมาณ 1 แสนเม็ด แต่คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร อีกทั้ง ขณะนี้ อย.ได้อนุญาตให้ อภ.ขออนุญาตนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตเองในไทยด้วย
ขอบคุณข่าวสารจาก เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์
Tags : COVID-19, โควิด-19